กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีเทศบาลตำบลหัวไทรขอใช้พื้นที่ราชพัสดุตั้งโรงสูบน้ำและวางท่อส่งน้ำ 

นายปริญญา สัคคะนายก ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 15  กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า ตามที่สำนักงานเทศบาลตำบลหัวไทร ขอใช้ที่ดินราชพัสดุในความครอบครองของกรมชลประทาน บริเวณริมคลองฝั่งซ้ายคลองระบายน้ำชะอวด – แพรกเมือง ตำบลหัวไทร อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ช่วง กม.3 + 850 เพื่อดำเนินการก่อสร้างโรงสูบน้ำและโรงกรองประปา  ซึ่งเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กมีลักษณะเป็นอาคาถาวร  นั้น เมื่อพิจารณาตามระเบียบของกรมชลประทานว่าด้วยการขอใช้และการจัดหาประโยชน์เกี่ยวกับที่ราชพัสดุในความครอบครองของกรมชลประทาน พ.ศ.2551 พบว่าที่ดินบริเวณดังกล่าว เป็นที่ดินประเภท 1 จะนำไปใช้หรือจัดหาประโยชน์ไม่ได้เว้นแต่เพื่อประโยชน์ของสาธารณชน โดยที่ดินเขตคันคลองด้านนอก เขตพนังด้านนอก เขตถนนจะต้องกันเขตห่างออกมาไม่น้อยกว่า 3.00 เมตร และเมื่อได้กันเขตคลอง เขตพนัง เขตถนนแล้ว ถ้ายังมีที่ดินเหลืออาจจะนำไปใช้หรือจัดหาประโยชน์ได้เป็นการชั่วคราว โดยเจ้าหน้าที่ผู้รับคำร้องเป็นผู้พิจารณาเสนอความเห็นว่าพื้นที่ใดสมควรนำไปใช้หรือจัดหาประโยชน์ได้  ซึ่ง กรมชลประทาน สำนักงานชลประทานที่ 15 ได้พิจารณาแล้วว่า การก่อสร้างโรงสูบน้ำและระบบกรองประปาดังกล่าว เป็นการก่อสร้างอาคารถาวร และกรมชลประทานไม่สามารถเข้าไปใช้ที่ดินในบริเวณดังกล่าวได้อีก ไม่เป็นไปในลักษณะการขอใช้พื้นที่เป็นการชั่วคราว จึงพิจารณาไม่สามารถอนุญาตให้ดำเนินการได้

สำหรับกรณี การขอใช้น้ำจากคลองระบายน้ำชะอวด-แพรกเมือง ในช่วงเดือน มกราคม กุมภาพันธ์ และเมษายน  ของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงที่มีความต้องการใช้น้ำในเขตลุ่มน้ำปากพนังในหลายภาคส่วนสูง และในบางปีปริมาณน้ำในแม่น้ำปากพนัง และคลองระบายน้ำชะอวด-แพรกเมือง ที่เป็นแหล่งน้ำหลักของลุ่มน้ำปากพนังมีปริมาณน้ำต่ำกว่าระดับที่กำหนด ประกอบกับปัจจุบันมีความต้องการใช้น้ำเพื่อผลิตน้ำประปาในส่วนของการประปาส่วนภูมิภาค (ส่วนกลาง) การประปาส่วนภูมิภาคสาขาปากพนัง และการประปาของเทศบาลตำบลหัวไทร เพิ่มมากขึ้น กรมชลประทาน สำนักงานชลประทานที่ 15 จึงพิจารณาให้ผู้ขออนุญาตในส่วนของการประปา และโรงงานอุตสาหกรรม จะต้องทำการเพิ่มเติมแหล่งน้ำสำรองเป็นเวลา 3 เดือน  เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในกรณีที่ปริมาณน้ำจากแหล่งน้ำไม่เพียงพอ โดยเทียบกับปริมาณน้ำที่ขอใช้ เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดกับภาคเกษตรกรรม การอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และต่อผู้ขออนุญาตใช้น้ำเอง

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ดำเนินการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆตามหลักวิชาการ โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย และบริหารจัดการร่วมกับคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JOINT MANAGEMENT COMMITTEE FOR IRRIGATION ,JMC) ซึ่งระยะที่ผ่านมาได้บริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูฝน ประมาณ 521,000 ไร่  และช่วงฤดูแล้งประมาณ 240,000 ไร่ รวมทั้งป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็มขึ้นไปเหนือน้ำที่จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในแม่น้ำปากพนัง ในช่วงฤดูน้ำหลาก คลองระบายน้ำของโครงการสามารถลดพื้นที่ที่เคยเกิดอุทกภัยในแต่ละปีลงได้มาก เพราะสามารถระบายน้ำให้ไหลลงสู่ทะเลได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น  ซึ่งการบริหารจัดการน้ำในแต่ฤดูกาลได้ดำเนินการประชุมคณะกรรมการ JMC เพื่อกำหนดแนวทางการบริหารจัดการและประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรและราษฎรในพื้นที่ได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ประเด็นที่เป็นข่าวดังกล่าวกรมชลประทานจะเร่งสร้างความเข้าใจและสร้างความรับรู้ ในพื้นที่ต่อไป