ชป.บริหารจัดการน้ำตามแผนฯ เน้นเก็บกักน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม
ไม่ให้ส่งผลกระทบพื้นที่ท้ายอ่างฯ
 

ฝนที่ตกกระจายในหลายพื้น ส่งผลให้มีปริมาณไหลเข้าอ่างเก็บน้ำหลายแห่งเพิ่มมากขึ้น กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำตามแผนที่วางไว้ เน้นเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด โดยควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ของโค้งปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ (Reservoir Operation Rule Curve) ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายอ่างฯ

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยในพี่น้องประชาชนที่อาจจะประสบกับปัญหาทั้งภัยแล้ง และน้ำท่วม ได้มอบหมายให้กรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยเน้นเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด พร้อมทั้งควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ของโค้งปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ (Reservoir Operation Rule Curve) เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายอ่างฯ รวมถึงเก็บกักน้ำในพื้นที่แก้มลิง และแหล่งน้ำธรรมชาติต่างๆ ให้เป็นไปอย่างเหมาะสม

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน(8 ก.ย. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 36,203 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 48 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีน้ำใช้การได้ประมาณ 12,401 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 39,864 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 9,858 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 40 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 3,162 ล้าน ลบ.ม. สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 15,013 ล้าน ลบ.ม.

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ พบว่ามีอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุอ่างฯ 42 แห่ง โดยเป็นอ่างฯขนาดกลางทั้งหมด กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำในอ่างฯเหล่านี้ ให้อยู่ในเกณฑ์ของโค้งปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ (Reservoir Operation Rule Curve) และสอดคล้องกับปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ โดยไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายอ่างฯ นอกจากนี้ ยังกำชับให้โครงการชลประทานทุกแห่งทั่วประเทศ จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ และกำลังเจ้าหน้าที่ ให้พร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ในทุกสถานการณ์ พร้อมทั้งเน้นย้ำให้เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งตรวจสอบสิ่งกีดขวางทางน้ำ การกำจัดวัชพืชในลำน้ำและแหล่งน้ำต่างๆ ให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำให้ดียิ่งขึ้น