FM ONE รู้หรือไม่??  อัตราการฆ่าตัวตายมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่สังคมต้องการความเข้าใจ เพื่อศึกษานำมาแก้ไข ป้องกัน รักษา ทางองค์การอนามัยโลกคาดว่าในปีหนึ่งจะมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จเป็นจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน เมื่อคิดเฉลี่ยต่อเวลาจะพบว่ามีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน ทุก 40 วินาที และการฆ่าตัวตายยังส่งผลกระทบต่อจิตใจของพ่อแม่พี่น้องสามีภรรยาและเพื่อนๆ ของผู้ตายอีกประมาณ 5-10 ล้านคน ตลอดจนมีผลมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ด้วยตระหนักถึงความสูญเสียและผลกระทบอันมหาศาล องค์การอนามัยโลกกำหนดจึงได้มีการประกาศให้วันที่ 10 กันยายน ของทุกปีเป็น “วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก” (World Suicide Prevention Day) โดยประกาศเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2546 (ค.ศ. 2003)


การฆ่าตัวตายนั้นติด 10 อันดับแรกของสาเหตุการตายของประชากรโลก และติดอันดับที่ 3 ของสาเหตุการตายสำหรับประชากรวัย 15-35 ปี ผู้ชายฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าผู้หญิงถึง 3 เท่า (ยกเว้นในประเทศจีน) องค์การอนามัยโลกประมาณว่า ผู้ทำร้ายตนเองมีจำนวนมากกว่าผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ 10-20 เท่า จากการศึกษาพบว่าผู้ทำร้ายตนเองจะมีโอกาสทำซ้ำและประสบความสำเร็จได้ โดยมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสำเร็จในระยะหนึ่งปีหลังการทำร้ายตนเองครั้งแรกเพิ่มขึ้นเป็น 100 เท่าเมื่อเทียบกับประชากรทั่วไป และร้อยละ 10 ของผู้ทำร้ายตนเอง จะจบชีวิตลงด้วยการฆ่าตัวตายในเวลาต่อมา


สำหรับประเทศไทยนั้นใช้ “ดอกสะมาเรีย” เป็นสัญลักษณ์การป้องกันการฆ่าตัวตาย และจากงานสัมมนาของ นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผอ.โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ (ศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ กรมสุขภาพจิต) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 ได้กล่าวว่า ตัวเลขการฆ่าตัวตายไทยเมื่อเทียบกับของโลกถือว่ายังต่ำกว่าของโลกอยู่พอสมควร ของโลกอยู่ที่ประมาณ 10.7 ต่อประชากรแสนคน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ที่ประมาณ 12-13 ในยุโรปอยู่ที่ประมาณ 14 แต่ของไทยอยู่ที่ประมาณ 6-6.5 ต่อประชากรแสนคน เพราะฉะนั้นเมื่อเทียบกันแล้ว สถิติการฆ่าตัวตายของไทยค่อนข้างต่ำกว่าของโลกและทวีปอื่นๆ อยู่พอสมควร ซึ่งตัวเลข 6-6.5 ของไทยนี่ก็อยู่ราวๆ นี้มาประมาณ 10 ปีแล้ว เราอาจจะเคยสูงเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้วคือประมาณ 8 ต่อประชากรแสนคน แต่หลังจากนั้นก็ลดลง ตอนนี้ก็อาจมีขึ้นลงบ้าง แต่ว่าตัวเลขไม่กระโดด อยู่ที่ 5 ปลายๆ 6 ต้นๆ มาโดยตลอด แต่ทว่าตัวเลขนี้ก็ยังก่อให้เกิดความสูญเสียต่อครอบครัว สังคม และประเทศชาติอย่างมากเช่นกัน


Cr. ภาพประกอบ : Illustration by Cinyee Chiu / The Standard