เพราะอดีตทำให้เราได้เรียนรู้

และการตั้งคำถามในปัจจุบันก็นำไปสู่การเรียนรู้เพื่ออนาคต

อดีต ปัจจุบัน อนาคต ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ในพิพิธภัณฑ์ของไทยใน พ.ศ.นี้


ราวคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 โลกตะวันตกได้มีการตื่นตัวในด้านการเก็บรวบรวมและสะสมทรัพย์สมบัติและมรดกต่างๆ ทั้งที่เป็นวัตถุสิ่งของมีค่า สิ่งเก่าแก่ที่แปลกและหายาก เพื่อเป็นหลักฐานทางมรดกวัฒนธรรมของชาติ อันเป็นการแสดงถึงความเป็นใหญ่และความมั่งคั่งของเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่เด่นชัด ซึ่งเอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมนั้นจะปรากฏขึ้นได้ก็ต่อเมื่อชาตินั้นๆ ได้มีการรวบรวมหลักฐานที่เป็นศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ สิ่งประดิษฐ์จากการคิดค้นหรือสิ่งแวดล้อมที่เป็นสมบัติของชาติมาประมวลเป็นหลักฐาน ห้ชีวิตของชนในชาตินั้นได้

สำหรับประเทศไทยนั้น ผู้ที่ทำการริเริ่มดำเนินการรวบรวมวัตถุที่เป็นมรดกวัฒนธรรมคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดพิพิธภัณฑสถานส่วนพระองค์ ณ พระที่นั่งราชฤดีเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นที่จัดแสดงสิ่งสะสมที่ทรงรวบรวมไว้ตั้งแต่ครั้งก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ ต่อมาได้ย้ายมาจัดแสดงที่พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ อันเป็นที่มาของคำว่า “พิพิธภัณฑ์” ในเวลาต่อมา เมื่อมาถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้มีการจัดตั้ง “มิวเซียม” ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับประชาชนแห่งแรกขึ้น ณ วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2417 โดยเปิดให้ประชาชนเข้าชมเฉพาะในการเฉลิมพระชนมพรรษาต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีจนถึงปีพ.ศ. 2430 พระองค์ได้ย้ายมิวเซียมหลวงจากพระบรมมหาราชวังไปจัดตั้งในพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า ซึ่งมิวเซียมหลวงแห่งนี้ถือเป็นจุดกำเนิดพิพิธภัณฑสถานแห่งแรกของไทย ซึ่งต่อมาก็คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

ต่อมาในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ได้พระราชทานหมู่พระที่นั่งทั้งหมดในพระราชวังบวรสถานมงคล จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์สถานสำหรับพระนครดูแลด้านโบราณคดี วรรณคดี เป็นที่รวบรวมสงวนรักษาโบราณวัตถุ ศิลปะวัตถุ ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติพิพิธภัณฑสถานพระนคร ได้มีการเปลี่ยนชื่อและหน่วยงานที่สังกัดอีกหลายครั้ง จนกระทั่งได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมศิลปากรกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2518 จัดตั้งกองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

ด้วยความสำคัญเหล่านี้ทำให้รัฐบาลได้ประกาศให้วันที่ 19 กันยายนของทุกปีเป็น “วันพิพิธภัณฑ์ไทย” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และเพื่อปลูกฝังให้คนไทยรัก หวงแหนในศิลปวัฒนธรรมอันเป็นสิ่งที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทย ซึ่งในวันนี้พิพิธภัณฑสถานต่างๆ ทั่วประเทศได้ร่วมกันเปิด พิพิธภัณฑสถานให้ประชาชนทั่วไป ได้มีโอกาสเข้าไปชมศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติเพื่อสร้างความรักความเข้าใจ ตลอดจนภูมิใจในความเป็นไทยโดยทั่วกัน ดังที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทไว้ ดังนี้

 “ต้องพยายามแนะนำชักจูงคนทั่วไปให้ทราบถึงกิจการ บริการ รวมทั้งประโยชน์ที่พึงจะได้รับจากพิพิธภัณฑสถาน เมื่อประชาชนได้รู้จัก ได้ใช้ และได้รับประโยชน์จากพิพิธภัณฑสถานโดยกว้างขวางแล้ว จะนับว่าเกิดประโยชน์แก่การศึกษาค้นคว้าอย่างแท้จริง”

 

ขอบคุณภาพจาก Supanut Arunoprayote