เมื่อไม่นานมานี้ ชาวเน็ตจีนได้ออกมาพูดถึงผลงานวิจัยของ Zumin Shi รองศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สุขภาพฯ เรื่องการทานเผ็ดแล้วจะทำให้ความทรงจำเสื่อมถอย

ซึ่งผลงานการวิจัยดังกล่าวที่นำโดย ซูมิน ชิ (Zumin Shi) ผู้ช่วยศาสตรจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์สุขภาพแห่งมหาวิทยาลัยกาตาร์ ได้วิเคราะห์ข้อมูลของผู้ใหญ่ชาวจีนจำนวน 4,582 คนที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป ในช่วงปี 1991-2006 และพบหลักฐานของการเสื่อมถอยของกระบวนการรับรู้ ในกลุ่มคนที่บริโภคพริกอย่างต่อเนื่อง ในปริมาณมากกว่า 50 กรัมต่อวัน

“งานวิจัยในอดีตของเราเคยระบุว่าการบริโภคพริกมีผลดีต่อร่างกาย เช่น ลดน้ำหนักและความดันเลือด แต่ในงานวิจัยฉบับนี้เราพบว่า พริกมีผลร้ายต่อกระบวนการรับรู้ของผู้ใหญ่อายุมาก” ซูมิน ชิกล่าวในงานแถลงข่าวงานวิจัยเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

หมิง ลี (Ming Li) จากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นออสเตรเลีย หนึ่งในผู้เขียนวิจัยฉบับนี้ระบุว่า อันตรายของการบริโภคพริก ครอบคลุมทั้งพริกสดและพริกแห้ง แต่ไม่รวมถึงพริกไทยดำและพริกหวาน


“พริกเป็นหนึ่งในสมุนไพรที่ถูกใช้ปรุงอาหารอย่างกว้างขวางที่สุดในโลก โดยเฉพาะในทวีปเอเชียและยุโรป” ลีกล่าว “และบางมณฑลของจีนเช่น เสฉวนและหูหนาน หนึ่งในสามของผู้ใหญ่ในมณฑล บริโภคอาหารรสเผ็ดทุกวัน”

เราทราบกันว่าแคปไซซิน เป็นสารประกอบรสเผ็ดในพริกที่เร่งการทำงานของเมตาบอลิซึม ช่วยลดไขมันและยับยั้งความผิดปกติของหัวใจ แต่วิจัยฉบับนี้เป็นวิจัยฉบับแรกที่สืบหาความเชื่อมโยงของการบริโภคพริกและกระบวนการการรับรู้ของร่างกาย

นักวิจัยอธิบายเพิ่มเติมว่า น้ำหนักตัวเกี่ยวข้องกับผลกระทบของการบริโภคพริก ผู้ที่มีน้ำหนักตามเกณฑ์อาจได้รับผลกระทบด้านความทรงจำมากกว่ากลุ่มคนที่มีน้ำหนักเกิน

อนึ่ง องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยเป็นโรคความจำเสื่อมกว่า 50 ล้านคนทั่วโลก โดยโรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่แพร่หลายมากที่สุดถึงร้อยละ 60-70 และขณะนี้ ยังไม่มีวิธีการรักษาและยับยั้งการลุกลามของโรคเหล่านี้ได้

 

ข้อมูลจาก China Xinhua News

ภาพจาก CGTN